คลินิก เจริญเมือง (ซี.เอ็ม)
ทันตกรรม เชียงใหม่

Dentist Chiang Mai, Thailand

ติดต่อสอบถาม/ปรึกษาปัญหาเรื่องฟัน

เบอร์โทรศัพท์ติดต่อทำฟันเชียงใหม่ (+66) 053 266 557

อีเมลติดต่อทำฟันจัดฟันเชียงใหม่ [email protected]

add line ติดต่อทำฟันเชียงใหม่ @cmdental

ทันตกรรมจัดฟัน เชียงใหม่

นอกเหนือจากการจัดฟันเพื่อความสวยงามที่คนส่วนใหญ่นึกถึง ปัจจุบันฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังเปิดให้บริการทันตกรรมจัดฟันในกรณีที่เป็นโรคยากและซับซ้อนกว่านั้นด้วย ทั้งนี้การจัดฟันกรณีดังกล่าวมักต้องมีการผ่าตัดร่วมด้วยซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ทพญ.วรฤทัย (คุณหมออะอิ) ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลจุฬลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลการทำงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวอย่างกรณีจัดฟันที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล เช่น กรณีผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะอย่างปากแหว่ง เพดานโหว่, โรคหยุดหายใจขณะหลับ, การจัดฟันในกรณีผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุบนใบหน้า แบบรุนแรง หรือเป็น clear aligner ให้คนไข้ที่มีความจำเป็น เช่น มีการทำ MRI หรือเอกซเรย์บริเวณ กะโหลกศีรษะบ่อย ๆ, ผู้ป่วยโรคเลือดที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บในช่องปากจากเครื่องมือจัดฟันปกติ, ผู้ป่วยลมชักที่เสี่ยงต่อการหลุดของเครื่องมือจัดฟัน เป็นต้น คนไข้เหล่านี้ล้วนมีความซับซ้อนที่ต้องมีการวางแผนการรักษาแตกต่างกับการจัดฟันที่คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจ

การทำงานเป็นทีมถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการรักษา

ด้วยบริบทของโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่เป็นโรงเรียนแพทย์ระดับชั้นนำของประเทศ ต้องให้การรักษาแก่ผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะซึ่งมีความซับซ้อนจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบคือเรามีทีมสหสาขาที่มีความเชี่ยวชาญสูงพร้อมช่วยเหลือครบทุกความต้องการ ประกอบด้วยศัลยแพทย์ตกแต่ง, ศัลยแพทย์ สาขาประสาทวิทยา, แพทย์หู คอ จมูก, ทันตแพทย์ จัดฟัน, นักกิจกรรมบำบัดที่สอนพูด สอนกลืน รวมทั้งนักจิตวิทยา ซึ่งมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาแก่ผู้ป่วยดังกล่าวอย่างครบวงจรแห่งหนึ่งของประเทศ และยังนำไปสู่การเป็นต้นแบบอีกด้วยเพราะการรักษาที่ผ่านความเห็นและมุมมองของทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์เดียวกันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการรักษาที่ดีขึ้นและครอบคลุมในทุกมิติ

การจัดฟันสำหรับคนไข้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้า

ในกรณีของผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่พบบ่อยมักเป็นกลุ่มผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งในเมืองไทยจะพบผู้ป่วยโรคนี้ 1-2 คน ต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ต้องทำตามช่วงวัยต่าง ๆเช่น หลังจากทารกแรกเกิดและผู้ป่วยโตพอ ศัลยแพทย์ตกแต่งจะเย็บริมฝีปากเย็บเพดานพอฟันน้ำนมหลุด ฟันแท้จะขึ้นทันตแพทย์จัดฟัน จะร่วมประเมินการสบฟัน และทันตแพทย์ สำหรับเด็กจะช่วยดูแลสุขภาพช่องปาก เมื่อโตขึ้นถึง อายุเหมาะสมจะเติมกระดูกในช่องว่างเพื่อส่งเสริมให้ฟันขึ้นในช่องปากได้ตรงตำแหน่งที่ปกติ ถ้ามีฟันขวางทันตแพทย์จัดฟันจะพิจารณาเปิดช่องไม่ให้ฟันขวางการใส่กระดูก แต่ถ้าฟันนั้นเป็นฟันเกิน หรือรูปร่างไม่ดีมีพยาธิสภาพ ทันตแพทย์ศัลยกรรมช่องปากจะช่วยเอาออกให้ ทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้ดูแลหลักในเรื่องพัฒนาการขากรรไกร การสบฟัน หรือมีการจัดฟันร่วมด้วยในตอนที่เด็กโต จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยนั้นได้รับการวางแผนรักษาทางทันตกรรมตั้งแต่แรกเกิดฟันน้ำนมขึ้นจนถึงฟันแท้เลยทีเดียว

เทคโนโลยีดิจิทัลทางทันตกรรมลดความผิดพลาด เพิ่มความรวดเร็ว

เทคโนโลยีดิจิทัลทางทันตกรรมที่ใช้วิธีสแกนในช่องปากจะเข้ามามีบทบาทแทนการพิมพ์ฟันด้วยวัสดุพิมพ์ปาก โดยบันทึกออกมาเป็นภาพสามมิติสามารถเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัล นำข้อมูลไปประมวลผลในการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอแบบพิมพ์ สามารถนำไปออกแบบและใช้เป็นไกด์ในการผ่าตัด (surgical guide) ลดระยะเวลาการทำงานและเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น ในผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะกลุ่มนี้ ทีมทันตกรรมจะทำงานร่วมกับทีมแพทย์สหสาขา อย่างศัลยแพทย์ตกแต่ง หรือแม้แต่ทีมของวิศวกรที่จะมีส่วนช่วยวางแผนการรักษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งลดระยะเวลาการผ่าตัด และมีความแม่นยำขึ้น รวมถึงการสื่อสารกับผู้ป่วยให้เห็นภาพก่อนและหลังรักษาได้ง่ายขึ้น

ศิลปะการรักษาด้วยการจัดฟันจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะให้ดีขึ้น

ที่จริงแล้วการจัดฟันมิได้มุ่งหวังผลลัพธ์เพื่อให้ผู้ป่วยมีฟันที่เรียงตัวเป็นระเบียบตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีขึ้นอย่างอื่นคือทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเคี้ยวอาหารและดำรงชีวิตได้ตามปกติ การเรียงตัวของฟันในตำแหน่งที่ถูกต้องจะมีส่วนช่วยให้เกิดความสะอาดตามธรรมชาติรวมถึงความสวยงามที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจ มีความนับถือตนเองสามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะแต่ละรายมีข้อจำกัดในการรักษาต่างกันซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันด้วยความคาดหวังในการรักษาจึงไม่อาจให้เหมือนกันได้ในแต่ละราย แต่ด้วยทีมสหสาขาที่มีความเชี่ยวชาญสูงของโรงพยาบาลจุฬาฯ จึงเป็นคลินิกหนึ่งที่พร้อมจะสร้างรอยยิ้มให้ผู้ป่วยได้มีความสุขทั้งกายและใจ

ทันตกรรมจัดฟัน เชียงใหม่

ข้อมูลโดย : ทพญ.วรฤทัย (คุณหมออะอิ)

ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลจุฬลงกรณ์ สภากาชาดไทย

วารสาร CHULA CARE ปีที่ 9 ฉบับที่ 87 มีนาคม - เมษายน 2567